Sunday, March 15, 2009

แนวคิดใหม่ในการบริบาลผู้ป่วย

แนวคิดใหม่ในการบริบาลผู้ป่วย

ภก.ศุภรักษ์ ศุภเอม[1]

ยุคนี้ ถือว่าเป็นยุคในการยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทุกโรงพยาบาล ในประเทศไทย หรืออาจรวมไปถึงสถานีอนามัย ผู้ป่วยยังถือว่ามีความสำคัญเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพการทำงานในการบริบาลผู้ป่วยนั้น ยังมีความพร่าเบลอ ไม่ชัดเจน อีกไม่น้อย โดยเฉพาะการจัดการระบบยาในโรงพยาบาล ที่จุดเน้น จะอยู่ที่การดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ การจัดการยาที่มีความเสี่ยงสูง การรายงาน ADR หรือ แนวคิดใหม่ล่าสุด Medication Reconciliation[2] ในขณะนี้ ตามโรงพยาบาลต่างๆ จะมีการทำงานเหล่านี้ กันอย่างเข้มแข็ง หากอยากผ่าน HA แต่อย่างๆไรก็ตาม กิจกรรมทั้งหลายเหล่ายังเป็น Drug oriented เช่นเดิม ยังไม่ใช่ การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หรือไม่ได้ใกล้เคียงกับการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมแม้แต่น้อย

การรักษาแบบฉาบฉวยของระบบโรงพยาบาลไทย

การดูแลผู้ป่วยในปัจจุบัน จะเป็นการดูแลแบบตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรืออาจเรียกให้โก้ๆว่า การดูแลแบบ Counter attack คือมีผู้ป่วยมาหาเราก็ให้บริการ (attack)ไป ตามหน้าที่ ตาม job หากป่วยหนักก็ให้นอนโรงพยาบาล ภาวะฉุกเฉินก็รักษากันไป จ่ายยาให้ไป นัดครั้งหน้าหากไม่มีอะไรเกิดขึ้นวันนัดค่อยมาเจอกัน เหมือนกับว่าคนไข้มาเราก็รักษาไป ซึ่งภาพเหตุการณ์แบบนี้ก็คือ การทำเก้าอี้รอ... ให้ว่าง นี่มันไม่ใช่การบริบาลผู้ป่วย แต่เป็นการบริการลูกค้าต่างหาก ซึ่งแนวคิด วิธีการนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รุนแรง เช่นโรคหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจพิการ ตับแข็ง ไตวาย ฯลฯ การจ่ายยาให้ไป แล้วให้คนไข้กลับบ้านไปดูแลตนเอง นัดครั้งหน้า ค่อยมาหาหมอใหม่ การให้การรักษาแบบนี้ ผู้เขียนให้ชื่อว่า การรักษาแบบสุดแท้แต่วาสนาครับผม ส่วนที่ขาดหายไปในการดูแลผู้ป่วยของระบบโรงพยาบาลก็คือ ความต่อเนื่อง ความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยเฉพาะราย ระบบงานจะแบ่งเป็น งานผู้ป่วยนอก งานผู้ป่วยใน งานเวชปฎิบัติชุมชน ทั้งๆ ที่ก็เป็นผู้ป่วยคนเดียวกันนั้นเอง มาหาหมอตามนัดก็เป็นผู้ป่วยนอก พอป่วยหนักนอนโรงพยาบาลก็เป็นผู้ป่วยใน พออยู่บ้านกลายเป็น งานเวชปฎิบัติชุมชน ระบบงานแบบนี้ขาดความต่อเนื่อง ไม่มีเจ้าของเคสผู้ป่วยที่แท้จริง

นอกจากนี้ วัฒธรรมการทำงานของระบบราชการยังเน้นรูปแบบ ทำกิจกรรมมากมาย มีการสร้างภาพ มีการประชาสัมพันธ์ผลงาน ระบบราชการแบบนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากงานที่ทำไม่สามารถประเมินผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นโรงพยาบาลที่โด่งดังมีชื่อเสียงอาจไม่แน่ว่า จะมีผลลัพธ์ในการทำงานที่ดี เนื่องจากเน้นกิจกรรมประชาสัมพันธ์กันมาก หากเป็นการทำกิจกรรมตามกระแสนิยมแล้วไซร้ ก็อย่าคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี เด็ดขาด หากจะทำกิจกรรมให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ต้องทำกิจกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาสำคัญก่อน กิจกรรมหลากหลายเหล่านั้น จึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ได้



[1] ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น e mail: frxbaby@gmail.com