Saturday, May 1, 2010

SLE หรือโรคพุ่มพวง

SLE หรือโรคพุ่มพวง

SLE คือ อะไร
โรค เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematosus – SLE) หรือที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยในชื่อของ “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านที่ผิดปกติ แล้วย้อนกลับมามีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำให้เกิดความผิดปกติต่อเส้นผม ผิวหนัง ข้อ ไต หัวใจ สมอง เลือด หลอดเลือด และองค์ประกอบอื่นๆ (ผิดปกติได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย) โดยที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการที่เกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ได้แก่ เส้นผมและผิวหนัง จะมีผมร่วง มีผื่นที่ผิวหนัง มีภาวะแพ้แสงแดด (Photosensitivity)

ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 20-45 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9-10 เท่า พบได้ในทุกเชื้อชาติ จะพบในคนผิวดำและผิวเหลืองมากกว่าผิวขาว พบมากในบริเวณเอเชียตะวันออก เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน

ในปัจจุบันสาเหตุของโรค เอส แอล อี ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าอาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน คือ
1. กรรมพันธุ์ 2. ฮอร์โมนเพศหญิง
3. ภาวะติดเชื้อบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อไวรัส

แนวทางการรักษา
การรักษาโรค SLE ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นโรคต่าง ๆ และให้ยาจำเพาะสำหรับโรค ยาที่รักษา SLE นั้นมีหลายชนิด ยาที่แพทย์มักจะเลือกใช้คือ

  1. ยาต้านเชื้อมาเลเรีย จำพวก chloroquine ใช้ในรายที่อาการไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อ มีผื่นขึ้น
  2. ยาพวก corticosteroid มีทั้งยากินและฉีด ในรายที่รุนแรงให้เป็นยาฉีด สำหรับความรุนแรงปานกลางให้เป็นยากิน
  3. ยาพวกปรับภูมิคุ้มกัน มีหลายชนิด มักใช้ในกรณีที่โรครุนแรง มีพยาธิสภาพกับอวัยวะภายในร่วมด้วย เช่น ที่สมอง ไต ปอด หัวใจ เป็นต้น
  4. ให้สารอิมมูโนโกลบูลินขนาดสูง ใช้ในรายที่ SLE ดื้อต่อยาอื่น ๆ จะได้ผลประมาณ 60% โดยเฉพาะ SLE ที่มีพยาธิสภาพที่ไตและสมองได้ผลดี ข้อดีของยานี้ช่วยไม่ให้ติดเชื้อง่าย
  5. การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา เป็นการรักษา SLE ที่มีอาการหนักและรุนแรงมากเป็นกรรมวิธีที่ต้องใช้ร่วมกับยาปรับภูมิคุ้มกัน

จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรค SLE

  1. ในระยะแรกที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
  2. พยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด
  3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด ท้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา
  4. เสริม สร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่าง ๆ ควรการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. เนื่องจากผู้ป่วย SLE มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนแออัด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดควรเป็นอาหารที่สุก สะอาด
  6. ปฏิบัติ ตามคำแนะนำของแพทย์ ไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรค ส่งผลให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  7. ไม่ควรเปลี่ยน แพทย์ผู้รักษาบ่อย ๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของ อาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้
  8. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา
  9. ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง
  10. หาก พบอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์ท่านอื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาที่รับประทานอยู่เป็น ประจำ
  11. ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดเพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลี่ยงไปใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อพ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่าง ใกล้ชิดจากแพทย์

เอกสารอ้างอิง
Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, Sixth Edition 2005, p.1981-1986.

The American College of Rheumatology revised criteria for the classification of systemic lupus erythematosus 1997.

เอกสาร ประกอบการฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม หลักสูตรการบริบาลเภสัชกรรม (รุ่นที่ 1) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา. 2550

: กาย
: บทความ
: สุขภาพดี
: sle โรค