SLE หรือโรคพุ่มพวง
SLE คือ อะไร
โรค เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematosus – SLE) หรือที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยในชื่อของ “โรคพุ่มพวง” เป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านที่ผิดปกติ แล้วย้อนกลับมามีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำให้เกิดความผิดปกติต่อเส้นผม ผิวหนัง ข้อ ไต หัวใจ สมอง เลือด หลอดเลือด และองค์ประกอบอื่นๆ (ผิดปกติได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย) โดยที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการที่เกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ได้แก่ เส้นผมและผิวหนัง จะมีผมร่วง มีผื่นที่ผิวหนัง มีภาวะแพ้แสงแดด (Photosensitivity)
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 20-45 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9-10 เท่า พบได้ในทุกเชื้อชาติ จะพบในคนผิวดำและผิวเหลืองมากกว่าผิวขาว พบมากในบริเวณเอเชียตะวันออก เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน
ในปัจจุบันสาเหตุของโรค เอส แอล อี ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าอาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน คือ
1. กรรมพันธุ์ 2. ฮอร์โมนเพศหญิง
3. ภาวะติดเชื้อบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อไวรัส
แนวทางการรักษา
การรักษาโรค SLE ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นโรคต่าง ๆ และให้ยาจำเพาะสำหรับโรค ยาที่รักษา SLE นั้นมีหลายชนิด ยาที่แพทย์มักจะเลือกใช้คือ
- ยาต้านเชื้อมาเลเรีย จำพวก chloroquine ใช้ในรายที่อาการไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อ มีผื่นขึ้น
- ยาพวก corticosteroid มีทั้งยากินและฉีด ในรายที่รุนแรงให้เป็นยาฉีด สำหรับความรุนแรงปานกลางให้เป็นยากิน
- ยาพวกปรับภูมิคุ้มกัน มีหลายชนิด มักใช้ในกรณีที่โรครุนแรง มีพยาธิสภาพกับอวัยวะภายในร่วมด้วย เช่น ที่สมอง ไต ปอด หัวใจ เป็นต้น
- ให้สารอิมมูโนโกลบูลินขนาดสูง ใช้ในรายที่ SLE ดื้อต่อยาอื่น ๆ จะได้ผลประมาณ 60% โดยเฉพาะ SLE ที่มีพยาธิสภาพที่ไตและสมองได้ผลดี ข้อดีของยานี้ช่วยไม่ให้ติดเชื้อง่าย
- การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา เป็นการรักษา SLE ที่มีอาการหนักและรุนแรงมากเป็นกรรมวิธีที่ต้องใช้ร่วมกับยาปรับภูมิคุ้มกัน
จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรค SLE
- ในระยะแรกที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
- พยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด
- ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด ท้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา
- เสริม สร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่าง ๆ ควรการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- เนื่องจากผู้ป่วย SLE มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนแออัด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดควรเป็นอาหารที่สุก สะอาด
- ปฏิบัติ ตามคำแนะนำของแพทย์ ไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรค ส่งผลให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- ไม่ควรเปลี่ยน แพทย์ผู้รักษาบ่อย ๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของ อาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้
- ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา
- ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง
- หาก พบอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์ท่านอื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาที่รับประทานอยู่เป็น ประจำ
- ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดเพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลี่ยงไปใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อพ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่าง ใกล้ชิดจากแพทย์
เอกสารอ้างอิง
Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, Sixth Edition 2005, p.1981-1986.
The American College of Rheumatology revised criteria for the classification of systemic lupus erythematosus 1997.
เอกสาร ประกอบการฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม หลักสูตรการบริบาลเภสัชกรรม (รุ่นที่ 1) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา. 2550