Monday, March 1, 2010

การดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน

การดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อเป็นเบาหวานควรทำอย่างไร
ปัจจุบัน นี้พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคเบาหวานในคนไทยเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิต เท่าที่ทราบกันว่าในขณะนี้ยังไม่มีการรักษาใดที่จะทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบา หวานหายขาดได้ แต่ก็มิใช่ว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถดำรงค์ชีวิตอย่างปกติสุขได้ ทั้งนี้มีหลักการง่ายๆที่เป็นแนวทางให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดำเนินชีวิต อย่างปกติสุขได้ ดังนี

  1. พบแพทย์และตรวจเลือดตามนัด โรคนี้จะอาศัยการสังเกต ดูอาการแสดงเพียงอย่างเดียวแบบโรคทั่วๆ ไปไม่ได้ เนื่องเพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย (126-200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) ก็มักไม่มีอาการผิดปกติให้รู้สึกได้ กรณีเช่นนี้อาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ ปล่อยตัวจนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ดังนั้นจึงควรตรวจเลือดเป็นระยะๆ หากเป็นไปได้ควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
  2. กินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่าลดยาหรือปรับยาตามความรู้สึก หรือการคาดเดาของตัวเองเป็นอันขาด ควรกินยาและกินอาหารให้เป็นเวลา (กินให้ตรงเวลาทุกมื้อ และอย่าเผลอหลับใกล้เวลาอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยาที่ออกฤทธิ์) และกะปริมาณอาหารให้พอๆ กันทุกวัน
  3. ควรควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้
    1. กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวันทุกมื้อ
    2. อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา
    3. ในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก
    4. หลีก เลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่มหรือผลไม้เชื่อมน้ำตาล
    5. ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า
    6. หลีก เลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด (เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด)
    7. กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
    8. กิน ผักให้มากๆ โดยเฉพาะผักประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกะเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว เป็นต้น
    9. กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มากได้มื้อละ 6-8 คำ เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สัปปะรด เป็นต้น
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก ควรทำในปริมาณที่เท่าๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม ทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลัง ควรปฏิบัติการเกิดความพอเหมาะ เพราะจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้ายังอ้วน แสดงว่ายังปฏิบัติตัวทั้ง 2 เรื่องไม่ได้เต็มที่
  5. ภาวะน้ำตาลต่ำ ผู้ที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ประจำทุกวัน ถ้าหากมีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น แสดงว่าอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบกินของหวานหรือน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่กินอาหารน้อย หรือกินผิดเวลา ทำงานหรือออกกำลังกายหักโหมกว่าปกติ
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียดหรือวิตกกังวล ถ้ามีความเครียด การออกกำลังกายจะช่วยผ่อนคลายความเครียดไปในตัว
  7. ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ
  8. หมั่นดูแลรักษาเท้า ดังนี้คือ
  • ทำ ความสะอาดเท้าและดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำควรล้างและฟอกสบู่ตามซอกนิ้วและส่วนต่างๆ ของเท้าอย่างทั่วถึง หลังล้างเท้าเรียบร้อยแล้วให้ซับทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไป เพราะผิวหนังอาจถลอกเป็นแผลได้
  • ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งเกินไป ควรใช้ครีมทาผิวบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้าและรอยเล็บเท้า
  • ตรวจ เท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้าบริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนัก และรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอบซ้ำ มีบาดแผลหรือการอักเสบหรือไม่ หากมีแผลที่เท้า ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
  • การตัดเล็บควรตัดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเล็บขบ ซึ่งอาจลุกลามและเป็นสาเหตุของการถูกตัดขาได้
    • ควรตัดเล็บในแนวตรงๆ อย่าให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป
    • ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ
    • การตัดเล็บ ควรทำหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้
  • ป้องกัน การบาดเจ็บและเกิดแผล โดยการสวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน (อย่าเดินเท้าเปล่า) ควรเลือกรองเท้าที่ห่อหุ้มเท้าและข้อเท้า สวมพอดี ไม่หลวม ไม่บีบรัด พื้นนุ่ม มีการระบายอากาศและความชื้นได้ ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ โดยเลือกสวมถุงเท้าที่สะอาด ไม่รัดแน่น และเปลี่ยนทุกวัน ก่อนสวมรองเท้าควรตรวจดูว่ามีวัตถุมีคมตกอยู่ในรองเท้าหรือไม่ สำหรับรองเท้าคู่ใหม่ ในระยะเริ่มแรก ควรใส่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้รองเท้าค่อยๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการตัดดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า และไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง
  • ถ้า รู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อน หรือประคบด้วยของร้อนใดๆ เพราะจะทำให้เกิดแผลพองไหม้ขึ้นได้ และไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อไร...ควรไปพบแพทย์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และรับการรักษาอยู่ประจำ ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ

  1. ขาดยาที่ใช้รักษา เช่น ยาหาย ยาไม่พอ
  2. มีอาการไม่สบาย เช่น ไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินรุนแรง ซึม เป็นลม เป็นต้น

“โรคเบาหวาน ถึงจะเป็นเรื้อรัง ก็ยังสามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขได้ ถ้าไม่ท้อถอย และคอยหมั่นรักษาตัวเอง”

เอกสารอ้างอิง
เอกสารประกอบการฝึกงานวิชาชีพเภสัชกรรม หลักสูตรบริบาลเภสัชกรรม รุ่น1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา. 2550.

: กาย
: บทความ
: สุขภาพดี
panupong 12 ต.ค. 2552 13 ต.ค. 2552

No comments:

Post a Comment