Tuesday, December 8, 2009

ตัวเลือกที่ไม่เข้าท่า ... ของเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

ตัวเลือกที่ไม่เข้าท่า ... ของเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน

ทำไม เราไม่ยอมตั้ง คำถาม หรือสงสัย ในที่สิ่งที่เราจำต้องทำ

ทำไมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนจึงต้องทำ DUE และ High Alert Drug

ในมุมมองทางสังคมวิทยา

ภก.ศุภรักษ์ ศุภเอม1

ผมเอง อยู่ในระบบโรงพยาบาลชุมชนมาตลอดชีวิตการทำงานรู้สึกสงสัย และขัดข้องใจเสมอว่าทำไม โรงพยาบาลชุมชนถึงต้องมาบังคับให้ทำ DUE และ High Alert Drugกันด้วย ในมุมมองความคิดของผมเอง คิดว่ามีกิจกรรมหลายอย่าง ที่เภสัชกรควรทำและได้ประโยชน์มากกว่ามานั่งทำเรื่อง DUE และ High Alert Drug มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหายาชุดให้ประชาชน ปัญหาการเฝ้าระวัง ADR ที่มีอันตรายสูงที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย ปัญหาที่ผู้ป่วยไม่ยอมใช้ยาตามแพทย์สั่ง หรือแม้กระทั่งปัญหาแพทย์สั่งยาไม่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามผมเองเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในระบบสาธารณสุข คงไม่มีอำนาจใดๆไปทัดทาน แนวคิดดังกล่าวของผู้มีอำนาจในวงการเภสัชกรรมได้

เมื่อผมสงสัย ผมจึงเข้าไปค้นหาข้อมูลใน อินเตอร์เนต เพื่อดูว่ากิจกรรม DUE และ High Alert Drug มีประโยชน์มากเพียงใด จึงมาสั่งให้เภสัชกรบ้านๆ ตามโรงพยาบาลชุมชนต้องมาลำบากขุดยาพื้นๆ บ้านๆ เพื่อที่จะมาทำ DUE ากการสืบค้นข้อมูลทาง อินเตอร์เนต พบว่าในฝั่งอเมริกาและยุโรปเลิกทำ DUE ไปแล้ว เนื่องจากการสั่งใช้ยาถ้ายึดตาม clinical practice guideline ก็คงไม่จำเป็นต้องทำ DUE อยู่แล้ว มี อยู่ครั้งหนึ่งโรงพยาบาลที่ผมอยู่น้องเภสัชกร จะทำ DUE โดยกลัวว่าไม่มีรายงาน DUE ส่งจังหวัด เลยเลือกเอายา Budesonide inhaler มาทำ DUE ผมอยากจะบ้าตายเพราะ ยานี้ เป็น ยาบัญชี ก จำเป็นต้องใช้ในสถานพยาบาลทุกระดับ ในส่วนของงาน High Alert Drug ก็เช่นกัน ข้อมูลเภสัชสนเทศ ก็ไม่พบว่าการทำงาน High Alert Drug จะเกิดประโยชน์คุ้มค่าทางวิชาการแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม คดีความที่มีการฟ้องร้องโรงพยาบาลยังมีคดีความ ที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนของ High Alert Drug อยู่บ้าง

กล่าวโดยสรุปก็คืองาน DUE และงาน High Alert Drug มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนน้อยมาก ว่าทำแล้วได้ประโยชน์คุ้มค่า แต่ทำไมทางเบื้องบนของวงการเภสัชกรรม ยังส่งเสริมให้ โรงพยาบาลชุมชนทำงานนี้อยู่อีก หรือว่าคำกล่าวของ ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ จะเป็นจริงที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมปรนัย สังคมเภสัชกรโรงพยาบาลก็เป็นด้วย ที่มีผู้บริหารจำนวนน้อย คิดงานให้เภสัชกรจำนวนมาก ทำไปวันๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การ เรียนการสอนของเภสัชกร ที่สอนให้เรียนรู้แบบข้อสอบปรนัย หรือแค่สอนให้จดจำข้อมูล และสอนให้คิดตามสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว การเรียนการสอนแบบนี้ ทำให้เภสัชกรเชื่อง และเชื่อฟัง เพื่อที่จะออกไปรับใช้ระบบ ที่มีคนจำนวนน้อย คิดแทนและคอยสั่งการคนจำนวนมาก ทำตามโดยไม่มีการตั้งคำถามหรือสงสัยอะไรมาก จึงทำให้เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ยอมทำงาน DUE และ High Alert Drug อย่างเชื่อฟัง โดยไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ เลยถึงแม้งานเหล่านั้น จะมีงานวิชาการสนับสนุนอยู่น้อยมากกว่าตามที

นอกจากนี้ งาน DUE และ High Alert Drug ยังมีลักษณะงาน ที่แฝงไปด้วยการ ควบคุมและสั่งการ ด้วยระบบส่งรายงานประจำเดือน ซึ่งเป็นระบบที่ลงตัวในการรับใช้โครงสร้างอำนาจของระบบราชการ ที่ทางจังหวัดจะบังคับให้โรงพยาบาลชุมชนต้องส่งรายงานทุกเดือน โดยเฉพาะงาน DUE ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในต่างประเทศ กลับถูกนำกลับมาใช้อย่าง สนุกสนานในประเทศไทย เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงคิดว่า การทำ DUE จะช่วยทำให้ รัฐประหยัดงบประมาณด้านยาลงได้(ซึ่งอาจไม่จริง) การที่ผู้บริหารมีความสามารถในการลดต้นทุนการดำเนินการลงได้ ถือว่าผู้บริหารมีความสามารถ ดังนั้น DUE จึงเข้ากับระบบราชการของไทยอย่างลงตัวทีเดียว

ในส่วนงาน High Alert Drug นั้น คัดลอกงานนี้ มาจากอเมริกา น่าแปลกที่งานเภสัชกรรมคลินิกที่อเมริกาดีๆ มีมากมาย แต่ ดันคัดเอาประเด็น งาน High Alert Drug มา ในอเมริกามีการฟ้องร้องทางการแพทย์กันมาก โดยเฉพาะ หากมีการให้ยาผิดพลาดจนคนไข้ตายในโรงพยาบาล แพทย์และเภสัชกร ต้องถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงมากเอาการเลยทีเดียว หมายเหตุ การที่คนไข้ตายเพราะไม่ยอมใช้ยาตามแพทย์สั่ง หรือเกิด อาการไม่พึงประสงค์ปกติจนตายก็ฟ้องโรงพยาบาลไม่ได้ นอก จากนี้ในอเมริกายังเน้นกำกับดูแลแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยให้ได้ตาม clinical practice guideline เพื่อที่จะไม่ให้ มีการฟ้องร้องได้ว่าให้การรักษาพยาบาลที่ผิดพลาด แต่ อย่างไรก็ตามในระบบสาธารณสุขไทย มีแพทย์เป็นใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด การนำประเด็นแพทย์สั่งยาไม่เหมาะสมตาม clinical practice guideline อาจทำได้ยากในโรงพยาบาลของรัฐชาติไทย จึงเป็นการง่ายกว่า ที่จะมาบังคับว่าให้เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนทำงานพัฒนาคุณภาพโดยเน้นงาน ด้าน High Alert Drug และงาน DUEก่อน

นอกจากนี้ งานด้าน DUE และ High Alert Drug นั้น ถือว่า เป็น งานที่มีความสำคัญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ยาราคาแพง จากต่างประเทศมาก ยาหลายชนิดมีอันตรายและความเสี่ยงสูง การดูแลจัดการเรื่องยาแพงๆ และยาเสี่ยงสูงเหล่านี้ จึงมีความชอบธรรมอยู่มากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เวลา ผู้เยี่ยมสำรวจที่มานิเทศระบบยาซึ่งมักมาจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือมาจากมหาวิทยาลัย จึงมีความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญยาแพงๆ เหล่านั้น มากกว่าเภสัชกรตามโรงพยาบาลชุมชนเป็นแน่ ในทางตรงกันข้าม การ เฝ้าติดตามแก้ปัญหา ความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย และติดตามผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้น มีประโยชน์มาก มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนมากมาย แม้ แต่เภสัชกรที่อเมริกาเองก็นิยม ทำกิจกรรมเหล่านี้ในการบริบาลผู้ป่วย แต่งานเหล่านี้ ทำได้ยาก ลำบากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์เนื่อง จาก ผู้ป่วยกับโรงพยาบาลมักไม่มีความใกล้ชิดกัน แตกต่างจากเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ที่ทำงานมานาน มีความคุ้นเคยกับผู้ป่วยมากกว่า จึงสามารถทำงาน ด้าน การเฝ้าติดตามแก้ปัญหา ความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย และติดตามผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ดีกว่าเภสัชกรโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้

จะเห็นได้ว่า การเน้นงาน DUE และ High Alert Drug ในระบบโรงพยาบาลชุมชนนั้น ถือ เป็นการครอบงำ การทำงานของเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน อย่างแยบผลเป็นการกลบเกลื่อนเชิงอำนาจที่ทำให้เภสัชกรจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีอำนาจมากกว่า มีความรู้สูงกว่า เภสัชกรโรงพยาบาลเล็กๆ อย่างแนบเนียน ซึ่งอาจไม่ใช่สาระสำคัญของบทความนี้ ส่วนสำคัญก็คือ การที่เน้นให้เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ต้องจำทำงาน ด้าน DUE และ High Alert Drug นั้น ทำให้ประชาชนในชนบท เสียโอกาส ในการได้รับการดูแลในสิ่งสำคัญด้านยาอื่นๆ จากเภสัชกรของพวกเขา นี่อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่เข้าท่าของการทำงานระบบยา ตามความคิดของผมเองฝ่ายเดียวก็ได้ (ในอนาคตผม อาจทำ อภิวิเคราะห์จากงานวิจัย ให้ดูว่า เภสัชกร ต้องทำอะไรคนป่วยจึงได้ประโยชน์) แต่ผมขอด่วนสรุปว่า การบังคับให้เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ทำงานดังกล่าวเป็นตัวเลือกที่ไม่เข้าท่า เป็น Fallacy of false dilemma เป็นตัวเลือกผิดๆ แบบสังคมปรนัยก็เป็นได้ครับผม สาธุ

1เป็น เภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน มาตลอดสิบกว่าปี ไม่คิดไปโรงพยาบาลใหญ่ มีความสนใจงานด้าน patient care primary care งานธรรมชาติบำบัด งานสมาธิ งานบำบัดผุ้ติดบุหรี่ สุรา ชอบทำวิจัย ทำวิจัยเสร็จตีพิมพ์ ไป 7 เรื่องแล้ว กะว่าสักวันจะ go inter ตีพิมพ์งานวิจัยลง วารสารระดับนานาชาติ สักวัน อีเมลล์ติดต่อ frxbaby@gmail.com

หมวดหมู่: สังคม ครอบครัว ชุมชน เศรษฐกิจ
สัญญาอนุญาต: ซีซี: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน Cc-by-nc-sa
สร้าง: พ. 02 ธ.ค. 2552 @ 13:15 แก้ไข: พ. 02 ธ.ค. 2552 @ 22:23

ความเห็น

1.
P
วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
เมื่อ พ. 02 ธ.ค. 2552 @ 22:17
#1711451 [ ลบ ]

สวัสดีครับท่านศุภรักษ์เภสัชพันธ์หายาก ยาวมากแต่อ่านอิ่ม ได้ความรู้เรื่งยาเรื่องเภสัช และเรื่งไม่เข้าท่า ของผู้ใหญ่ ที่ชอบทำอะไรแบบยกเข่ง เชียร์ ชื่นชม และชื่นชอบ เข้ามาอ่านแล้วได้อาหารสมิงกลับไป .....และเรียนรู้ เรียนคิดไปด้วยครับ

2.
P
สามสัก
เมื่อ อา. 06 ธ.ค. 2552 @ 05:06
#1717273 [ ลบ ]
  • ผมมาแวะหาความรู้ในการทำงานเชิงบริหาร ที่จะส่งผลให้เกิดการบูรณาการอย่างได้ผลดีมากมายจริงๆ มีทั้งเรื่องเล็กๆใหญ่ๆ มาโดยตลอด..ชอบที่ท่านสะท้อนได้อย่างตรงๆ ดี ไม่อ้อมค้อม เห็นด้วยกับผู้เฒ่าวอญา..น๊ะ
  • ระลึกถึงท่าน..เสมอครับ
  • อากาศเย็นๆ รักษาสุขภาพมากๆ ด้วย
  • ช่วงนี้จะไม่ค่อยว่าง ขอถือโอกาสอาราธนาคุณพระศรีรัตน์ตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว จงประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดปีใหม่ที่ถึงและตลอดไปด้วยครับ
3.
P
นาย ศุภรักษ์ ศุภเอม
เมื่อ จ. 07 ธ.ค. 2552 @ 21:51
#1720403 [ ลบ ]

ขอบคุณท่าน

P

วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ที่มาอ่าน และให้กำลังใจครับ

ปล.ขอให้เกาต์ไม่มาเบียดเบียน โอม.*//*-*-

4.
P
นาย ศุภรักษ์ ศุภเอม
เมื่อ จ. 07 ธ.ค. 2552 @ 21:53
#1720407 [ ลบ ]

ขอบคุณท่าน

P

สามสัก

ขอบคุณ ที่มาชม และให้กำลังใจครับ

อีบุค ของท่านผมอ่านแล้วดีมากๆ ครับ

No comments:

Post a Comment